ขุดรื้อถังบำบัดน้ำเสียที่แตกออก เปลี่ยนใบใหม่, เปลี่ยนถังแซท
งานระบบสุขาภิบาล ก็ถือเป็นงานประเภทหนึ่งที่ต้องทำควบคู่กันไปในการสร้างบ้าน อย่างเช่น การเดินท่อประปา การติดตั้งถังบำบัดน้ำเสีย ถังดักไขมัน การเดินท่ออากาศ การเดินท่อระบายน้ำทิ้งหรือน้ำเสียต่างๆ เป็นต้น การดูแลรักษาระบบสุขาภิบาลในบ้านถือเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง ที่ผู้ใช้งานหรือผู้ที่พักอาศัยอยู่ในบ้านควรต้องตรวจสอบอยู่เสมอเพื่อให้สามารถพักอาศัยและใช้งานระบบสุขาภิบาลในบ้านได้อย่างปกติ
พอดีวันนี้ผมมีงาน รื้อเปลี่ยนถังบำบัดน้ำเสีย ซึ่งเป็นอุปกรณ์ชนิดหนึ่งในระบบสุขาภิบาลในบ้าน ก็เลยมาเล่าบรรยากาศให้ฟังกัน ไม่ได้มาสอนวิธีทำหรือขั้นตอนอะไรนะครับ
ถังบำบัดน้ำเสียในที่นี้ถ้าเรียกให้เข้าใจง่ายๆก็คือ ถังส้วม หรือบางคนเรียก ถังแซท นั่นแหละครับ หวังว่าคงเข้าใจตรงกันนะครับ
รื้อทำไม? ถังฯมันรั่วครับ
รู้ได้ยังไงว่ามันรั่ว? ก็เปิดฝาถังฯส่องดูครับ ดูระดับน้ำที่เติมไว้จนถึงระดับท่อน้ำออก มันลดลงก็เลยรู้ว่ามีการรั่วแน่นอน
ที่เปิดฝาส่องดูระดับน้ำในถังฯได้ก็เพราะมันเป็นบ้านสร้างเสร็จใหม่ ยังไม่ได้มีการใช้งานถังฯ ก็เลยก้มส่องดูได้ (ตอบก่อนที่จะถาม รู้นะว่าจะถามอะไร)
สูบน้ำออกแล้วก็ช่วยกันขุดอย่างที่เห็นนี่แหละครับ
ตอนเอาถังบำบัดฯขึ้นนี้มันทุลักทุเลน่าดู ไม่ใช่งานง่ายเลย เนื่องจากสถานที่มันไม่เอื้ออำนวยที่จะเอาเครื่องจักรเข้าไปช่วยทำงานได้ เพราะว่าบ้านสร้างเสร็จแล้ว ตกแต่งบ้านหรือจัดสวนเรียบร้อยแล้ว หากจะเอาเครื่องจักรเข้าไปช่วยขุดหรือช่วยยก ก็จะต้องมีความเสียหายหลายอย่างที่ต้องซ่อมแซมกลับคืน ซึ่งค่าใช้จ่ายก็จะสูงตามไปด้วย ก็เลยได้ใช้แรงคนอย่างเดียวบวกกับอุปกรณ์ทุ่นแรงอีกตัวคือ รอก นั่นเองครับ
ใช้รอกชักถังฯขึ้นมา
ถามว่าเอาถังฯขึ้นอย่างไร? ก็ใช้คนขุดครับ ช่วยกันขุดรอบๆถังฯขุดจนถึงก้นบ่อ สูบน้ำออกจากถัง แล้วใช้รอกเกี่ยวชักเอาถังฯขึ้นมา ฟังดูเหมือนง่ายแต่จริงๆแล้วก็ยากพอสมควร แล้วงานแบบนี้ไม่ค่อยมีคนอยากทำ เพราะเป็นงานที่เลอะเทอะ แฉะ และหนัก ใช้ร่างกายใช้แรงเยอะ ต้องใช้ทีมช่างฯที่ทำงานด้านนี้โดยเฉพาะจึงจะทำได้ครับ ก็ใช้เวลาประมาณ 2 วัน ในการเอาถังขึ้นและเอาใบใหม่ลงไปรวมทั้งการถมดินกลบกลับคืน บวกกับอีก 1วัน ในการตกแต่งผิวพื้นด้านบนให้กลับสภาพเดิม ก็เป็นอันเสร็จเรียบร้อยครับสำหรับงานรื้อเปลี่ยนถังบำบัดน้ำเสีย
ถังบำบัดฯ ใบใหม่ที่เปลี่ยนเอาลงไปนั้นเมื่อตั้งได้ตำแหน่งหรือได้ระดับดีแล้ว จะต้องเติมน้ำใส่ให้เต็มก่อนทำการกลบถังฯ เพราะหากไม่เติมน้ำให้เต็มก่อน ดินหรือทรายที่เรากลบลงไปอาจไปดันถังฯให้ปริหรือแตกได้ และท่อต่างๆที่ถอดออก เช่น ท่อน้ำเข้า, ท่อน้ำออก, ท่ออากาศ ก็ต้องต่อกลับคืนให้เรียบร้อย ก่อนกลบดินด้านบนช่างๆก็จะหล่อแท่นวางฝาบ่อพร้อมปรับระดับพื้นอีกครั้ง (ใต้ถังฯมีลงเข็ม 4ต้นพร้อมเทพื้นคอนกรีตเป็นฐานรองรับถังฯอยู่แล้วนะครับ)
ถังบำบัดฯใบที่เอาขึ้นมานี้เป็นขนาดความจุ 2000 ลิตร ซึ่งถือว่ามีขนาดใหญ่พอสมควร งานนี้ไม่ง่ายครับ ทุลักทุเลกว่าจะเอาขึ้นมาได้ พอเอาขึ้นมาถึงได้รู้ว่าไม่ใช่รูรั่วเล็กๆ แต่เป็นรอยแตกยาวประมาณ 50 เซนติเมตรเลยทีเดียว