วิธีติดตั้งเพลทหัวเสา ทำโครงเหล็กหลังคาบ้าน
มีคนถามเข้ามาเรื่อง วิธีติดตั้งเพลทหัวเสา เพื่อเชื่อมยึดอะเสหล็ก ในขั้นตอนการทำโครงหลังคาบ้าน ผมก็ไม่ได้เขียนซักที เรื่องของเรื่องก็คือ ไม่มีรูปประกอบเดี๋ยวเขียนไปแล้วไม่เห็นภาพกัน พอจะถ่ายรูปก็ถ่ายได้ไม่ชัดเพราะอยู่สูง(ปลายหัวเสา)ไม่กล้าขึ้นไปกลัวตก เมื่อวานก็เลยลองถ่ายรูปโดยใช้วิธีซูมเอา ก็พอดูได้นะครับ ก็เลยได้เขียนบทความในวันนี้
สำหรับเหล็กเพลทที่เชื่อมปิดหัวเสาที่เห็นในรูปนั้น เป็นเหล็กที่มีขนาดความหนา 6 มิลลิเมตร ความกว้าง-ยาว ของเหล็กเพลท เท่ากับ 17×17 เซนติเมตรหรือจะทำขนาด 17×20 เซนติเมตร ก็ได้(หน้าตัดเสาคอนกรีต 20×20 เซนติเมตร) สาเหตุที่ไม่ทำแผ่นเหล็กเพลทให้พอดีกับหน้าตัดเสาก็เพราะต้องการให้มีช่องสำหรับเทกรอกปูนลงไปอุดหัวเสาใต้เพลท (ใช้ปูน Non-Shrink Grout) หากทำเพลทให้พอดีหน้าตัดเสาจะทำให้กรอกปูนอุดใต้เพลทได้ยากและอาจทำให้คอนกรีตหัวเสาที่อยู่ใต้เพลทเกิดรูโพรงได้
เรื่องเทคนิค วิธีติดตั้งเพลทหัวเสา ก็ไม่ยากใช้เหล็กเส้นขนาด 9 ม.ม.หรือ 12 ม.ม.ดัดเป็นลักษณะรูปตัวยู (ใช้ 2 ตัวต่อ1 เพลท) ความกว้างของเหล็กตัวยู 10 เซนติเมตร ขาตัวยูยาวข้างละประมาณ 15-20
- เชื่อมเหล็กตัวยูทั้ง 2 ตัว ให้ติดกับใต้แผ่นเพลทไว้ก่อน โดยเชื่อมให้เต็มตลอดความกว้างของตัวยู (ในที่นี้ก็คือ 10 ซ.ม.) เพื่อให้แน่ใจว่าเหล็กเพลทจะไม่มีโอกาสหลุดแน่นอน
- เมื่อกำหนดระดับความสูงของเพลทได้แล้ว ก็นำเพลทขึ้นไปติดตั้งได้เลย ก่อนเชื่อมยึดต้องเช็คตำแหน่งเพลทให้ตำแหน่งศูนย์กลางของเพลทตรงกับ Grid line หรือศูนย์กลางเสา โดยเชื่อมยึดประคองไว้กับเหล็กแกนเสา ในขณะเชื่อมก็ต้องใช้ระดับน้ำวางเช็คระดับหลังเพลทให้ตรง เพื่อป้องกันเพลทเอียง
- เชื่อมยึดให้แน่นก็เป็นอันจบ
เมื่อติดตั้งเพลทเสร็จแล้ว ก็ต้องเข้าแบบและเทปูนอุดเสาโครงสร้างบ้าน ส่วนที่อยู่ใต้เพลทให้เต็ม เทคนิควิธีเทปูนอุดเสาใต้เพลทนี้ จะใช้ปูนเกราท์ที่เรียกว่า Non-Shrink Grout เทกรอกจากด้านบนบริเวณขอบแผ่นเพลทที่มีช่องว่าง เทกรอกลงไปให้เต็ม แล้วทิ้งไว้ให้แข็งตัวจึงค่อยแกะไม้แบบออก หากแกะไม้แบบออกแล้วปูนที่หล่อไว้ไม่มีรูโพรง อุดเต็มใต้เพลทได้ดีก็เป็นอัน เสร็จสิ้นวิธีติดตั้งเพลทหัวเสา
*สาเหตุที่ต้องใช้ปูน Non-Shrink ก็เพราะว่า ปูนชนิดนี้สามารถผสมให้เหลวได้มาก ทำให้สามารถเทแล้วไหลเข้าไปใต้แผ่นเพลทได้ทั่วถึงโดยไม่มีรูโพรง (เป็นปูนผงสำเร็จรูป ฉีกถุงแล้วผสมกับน้ำอย่างเดียวก็ใช้เทได้เลยไม่ต้องผสมอะไรเพิ่ม) และคุณสมบัติพิเศษของปูนชนิดนี้ก็คือ ไม่หดตัว ทำให้เทไปแล้วไม่มีการแตกร้าว และยังรับกำลังอัดได้สูงกว่าคอนกรีตปกติที่ใช้ทำโครงสร้างบ้านทั่วไป
*สาเหตุที่ไม่ใช้การผสมคอนกรีตแบบปกติเทอุดหัวเสา ก็เพราะ พื้นที่คับแคบ คอนกรีตไม่สามารถไหลเข้าไปในช่องว่างใต้เพลทได้หมด และไม่สามารถจี้คอนกรีตให้แน่นได้ ซึ่งจะทำให้เนื้อคอนกรีตเกิดรูโพรง และหากผสมคอนกรีตให้เหลวมากก็จะทำให้ความสามารถในการรับกำลังอัดของคอนกรีตลดลง
ก็คงจะจบไว้เพียงเท่านี้ครับสำหรับ เทคนิคการสร้างบ้าน อีกหนึ่งขั้นตอน ซึ่งดูเหมือนจะแอดว๊านซ์ไปนิด หลายๆท่านอ่านแล้วอาจปวดหัว แต่ผมอยากจะเขียนไว้ให้ข้อมูลครอบคลุม เดี๋ยวโอกาสหน้าจะพยายามเขียนเรื่องแบบสบายๆพ่อบ้านแม่บ้านอ่านแล้วเข้าใจง่ายๆครับ
ได้ความรู้ดีมากครับเนื้อหาส่วนนี้อ่านแล้วเข้าใจว่าแต่ปูนแบบนี้ราคาแพงกว่าผสมเองมากไหมครับ
@คุณFlower
ถ้าเทียบปริมาณเป็นกิโลกรัม ก็จะแพงกว่าปูนปกติครับ แต่ก็ไม่ได้แพงมากมายอะไรและที่สำคัญการนำมาใช้งาน เราจะใช้เทสำหรับพื้นที่เล็กๆหรือพื้นที่คับแคบที่การใช้ปูนปกติเทเข้าไปไม่ได้ หากเป็นพื้นที่ปกติที่เราสามารถใช้ปูนปกติเทได้ก็ใช้ปูนปกติเท ซึ่งหมายความว่าเราสามารถใช้อุปกรณ์จี้หรือหรือใช้เหล็กแยงเข้าไปได้ในขณะเทคอนกรีตเพื่อไล่ให้ปูนแน่นไม่มีรูโพรง แต่ในการเทปูนใต้เพลทพื้นที่มันคับแคบไงครับ หากเราใช้ปูนปกติเทเราก็ไม่แน่นใจว่าปูนมันไหลเข้าไปใต้เพลทเต็มหรือไม้ จะใช้อุปกรณ์จี้หรือกระทุ้งเพื่อไล่ปูนเข้าไปก็ไม่มีพื้นที่ให้ทำ จึงจำเป็นต้องใช้ปูนชนิดนี้
ช่างไม่ได้ใช้เหล็ก 9 อ๊อกใต้แผ่นแพลท จะมีปัญหาตามมาทีหลังรึเปล่าคะ แถมยังใช้เพลทพอดีกับตัวเสา ยังนึกไม่ออกว่าจะเทปูนเข้าทางไหนดีค่ะ
@คุณกลุ้มใจ (อย่ากลุ้มเลยครับ)
– ที่บอกช่างฯไม่ได้ใช้เหล็ก 9 เชื่อมใต้เพลท ช่างฯอาจใช้วิธีเชื่อมเข้ากับเหล็กแกนเสา (ก็ได้เหมือนกันครับ)
– ช่างฯอาจจะเทเข้าด้านข้างก็ได้ ถ้าทำดีๆก็ใช้ได้เหมือนกันครับ แต่ถ้าทำไม่ดีปูนก็จะไม่ถึงแผ่นเหล็ก(เป็นโพรงใต้เพลท)
ช่างใช้วิธีเชื่อมจากเหล็กที่โผล่ออกมาจากหัวเสาค่ะ แล้วใช้เหล็กวางแนวตั้งด้านมุมแล้วเชื่อมอีกรอบค่ะ (แบบนี้ก็โอใช่ไม๊คะ)
ส่วนอีกทีม กำลังเกร้าท์หัวเสาอยู่ค่ะ โดยการหยอดลงตรงรูที่มีอยู่น้อยนิด (ตอนนี้หมดปูนนอนชิ้งไป 3 ถุงแล้วค่ะ T T)
ขอบคุณสำหรับความคลายกลุ้มใจนะคะ ^^
@คุณกลุ้มใจ
-นั่นละครับช่างเขาเชื่อมเข้ากับเหล็กแกนเสาที่โผล่ขึ้นมา ก็ใช้ได้เหมือนกันครับไม่ต้องซีเรียส ที่สำคัญคือต้องเชื่อมให้ดีอย่าให้เพลทหลุดได้ในภายหลัง (อาจจะเสริมความแข็งแรงโดยการงอเหล็กให้เป็นฉากแล้วเชื่อมประกบระหว่างแกนเหล็กเสากับใต้เพลทก็จะแน่นกว่าการเชื่อมชนใต้เพลทตรงๆ)
-ถ้าไม่อยากให้เปลือง non shrink ช่างฯก็ต้องเทคอนกรีตเสาให้ได้ระดับใกล้เคียงเพลทมากที่สุด ให้ได้ระยะเกร้าทฺ์ซัก 10-15 ซ.ม.กำลังดี ถ้าระยะเกร้าท์มากกว่านี้ก็จะเปลือง non shrink
ใจเย็นๆนะครับ การสร้างบ้านหนึ่งหลังกว่าจะเสร็จมีรายละเอียดเยอะมาก ค่อยๆดูไป
ให้ช่างใช้เหล็กฉากเชื่อมตามมุมของอะเสบริเวณเสาด้านนอกของบ้านแล้วค่ะ
อยากจะขอบคุณทีมงาน / แอดมินที่สร้างเวปดีๆแบบนี้ขึ้นมาค่ะ อย่างน้อยจะได้เอามาเพิ่มข้อมูลจะได้รู้เท่าทันหรือเวลาเค้าคุยกันจะได้นึกภาพออกค่ะ ^^