ปีกนก ค.ส.ล. เอาไว้ทำอะไร, คือส่วนไหนของบ้าน?
ปีกนก ค.ส.ล. ก็คือส่วนที่เป็นคอนกรีตลักษณะเหมือนปีกยื่นออกมาจากผนังบ้านตรงที่มุงหลังคาไปชนผนัง, เอาไว้ทำอะไร? หน้าที่ของปีกนกฯ ก็คือ ปิดรอยต่อระหว่างการมุงหลังคาบ้านไปชนกับผนังบ้าน เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำฝนรั่วลงไประหว่างจุดรอยต่อที่มุงหลังคาไปชนกับผนัง อีกอันหนึ่งคือผมมองว่าปีกนกฯถือเป็นลูกเล่นในการตกแต่งบ้านไปในตัว เพราะทำให้บ้านดูมีมิติ มีส่วนยื่นออกมา ช่วยทำให้บ้านดูไม่เรียบจนเกินไป (บ้านที่ผนังดูเรียบไปหมด ไม่มีส่วนยื่น ส่วนเว้า คงดูไม่ค่อยสวยนะผมว่า..เอ๊ หรือว่า สวยนะ, เอ้า!แล้วแต่… นานาจิตตัง..)
ซึ่งจริงๆแล้ว บริษัทฯที่ผลิตกระเบื้องมุงหลังคาหลายๆยี่ห้อ ก็จะมีการผลิตอุปกรณ์สำหรับปิดรอยต่อบริเวณนี้อยู่แล้ว แต่ว่าการทำปีกนก ค.ส.ล. ก็ยังเป็นที่นิยมอยู่ จะสังเกตเห็นได้จากตามหมู่บ้านจัดสรรทั่วๆไปที่ยังนิยมใช้วิธีนี้อยู่ หากถามว่าถ้าจะสร้างบ้านเองแล้วควรจะเลือกใช้แบบไหนดีระหว่างการทำปีกคอนกรีตเสริมเหล็ก (ค.ส.ล. คือตัวย่อของ คอนกรีตเสริมเหล็ก) กับการใช้อุปกรณ์ของวัสดุมุงหลังคาจำพวกครอบปิดรอยต่อไปเลยจะได้เข้าชุดกับกระเบื้องหลังคา?
หมายเลข 1 นี้เป็นครอบชนผนัง ที่ใช้ปิดรอยต่อระหว่างหลังคากับผนังบ้าน เป็นอุปกรณ์ที่มากับชุดของกระเบื้องมุงหลังคา
หมายเลข 2 นี้เป็นปีกนกคอนกรีตฯ ลักษณะของการมุงหลังคาจะเหมือนกับรูปบนแต่เลือกใช้วัสดุปิดรอยต่อหลังคาต่างกัน
อันนี้ก็แล้วแต่การออกแบบหรือความต้องการของเจ้าของบ้าน ถ้าความคิดส่วนตัวของผมๆว่าก็ดีทั้งสองแบบนั่นแหละอยู่ที่ความชอบส่วนตัวและอีกกรณีหนึ่งก็คือรูปทรงของตัวบ้านจะเป็นตัวที่ใช้ในการพิจารณาว่า ควรเลือกใช้การปิดรอยต่อหลังคาด้วยวิธีใดหรือวัสดุแบบไหน เช่น รูปทรงของตัวผนังบ้านที่มีการหักไปหักมา พอมุงหลังคาไปชนแล้วตรงรอยต่อระหว่างหลังคากับผนังมีลักษณะหยักไปมา (ดูรูปหมายเลข 3 ) เมื่อเอาอุปกรณ์หรือครอบสำหรับปิดรอยต่อของชุดมุงหลังคาไปปิดอาจทำได้ยากและไม่ลงตัว ซึ่งทำให้ไม่สวยงามและอาจเกิดปัญหารั่วซึมตามมา กรณีอย่างนี้ก็อาจเลือกใช้วิธีทำปีกนกโดยการเทคอนกรีต
บางคนอาจเคยได้ยินคนพูดมาว่าทำ ปีกนก ค.ส.ล. แล้วรั่วซึม, อันนี้ผมคิดว่าอยู่ที่ช่างที่ทำมากกว่า ว่าใช้วิธีทำหรือเทคนิคช่างถูกต้องหรือไม่! หรือบางคนอาจได้ยินมาว่าใช้ครอบของชุดหลังคาปิดแล้วทำให้รั่วซึม ผมก็ว่าอยู่ที่การติดตั้งมากกว่า หากติดตั้งได้ถูกต้องตามมาตรฐาน ใส่อุปกรณ์ที่เขาให้มาให้ครบและใช้เทคนิคช่างให้ถูกโอกาสที่จะรั่วซึมก็ไม่เกิดขึ้น หรืออีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เกิดการรั่วซึมก็เนื่องมาจากการเลือกใช้วัสดุไม่ถูกกับสภาพหน้างานหรือรูปทรงของบ้าน นั่นเอง
สวัสดีครับ..รบกวนอีกแล้ว
(สร้างบ้าน กว้าง 20-25 ซ.ม. หนา 8 ซ.ม.(ฉาบเสร็จจะได้ 10 ซ.ม.) ระวังเวลามุงกระเบื้องสอดเข้าไปใต้ปีกนก ต้องสอดเข้าไปให้ลอนยกอยู่ใต้ปีกนก ฝนที่สาดเข้าไปใต้ปีกนกจะได้ไม่รั่วลง เป็นข้อความที่คุยกันที่เฟสครับ)
ก็มีปัญหาต่อว่าจากขอบสันลอนยกถึงพื้นล่างของปีนกห่างกี่ ซ.ม. ครับ
รบกวนด้วยครับ..ขอบคุณครับ
@คุณน้อง
ผมตั้งใจจะเขียนวิธีทำปีกนก แยกเป็นอีกบทความอยู่แล้วเดี๋ยวอีกซักวันหรือสองวันจากนี้ ผมจะเขียนให้อ่านในบทความวิธีทำปีกนกก็แล้วกันนะครับ
ขอบคุณครับ..:)
ขอบคุณครับ..รบกวนด้วยครับ
ขอบคุณมากครับ พอดีผมกำลังจะสร้างบ้านใหม่ เลยได้คามรู้และเทคนิคต่างๆเป็นอย่างมาก อย่างน้อยคงทำให้รู้เท่าทันช่างที่มักง่าย และขอเป็นกำลังใจให้ครับ ขอบคุณอีกครั้งครับ
@คุณprayoon
ดีใจครับที่บล็อกนี้มีประโยชน์ต่อผู้อ่าน
ขอบคุณครับ