วิธีซ่อมรอยแตกร้าวบนผนังบ้าน
พูดถึงวิธีซ่อมรอยแตกร้าวบนผนังบ้านนั้น ต้องเข้าใจก่อนนะครับว่า ปูนซีเมนต์ที่ใช้ฉาบผนังบ้านนั้นมันมีการหดตัวหรือขยายตัวได้ โดยมีอุณหภูมิหรือสภาวะแวดล้อมภายนอกเป็นตัวกระตุ้น ซึงเรามองไม่เห็นด้วยตาเปล่า (จะมองเห็นก็ตอนที่มันเกิดการแตกร้าวแล้ว) ซึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดการแตกร้าวมากหรือน้อยนั้น ก็ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น
– เกิดจากฝีมือช่างไม่ดี , ส่วนผสมไม่ถูกต้อง, การเตรียมผิวผนังก่อนทำการฉาบปูนไม่ดี เช่น ไม่รดน้ำให้อิฐเปียกชุ่มก่อนทำการฉาบ เมื่อฉาบปูนผนังไปแล้วทำให้อิฐดูดซึมน้ำจากปูนฉาบทำให้ผนังที่ฉาบปูนแห้งเร็วเกินไปทำให้เกิดการแตกร้าวหลุดร่อนในภายหลัง , ระยะเวลาในการฉาบปูนหรือขั้นตอนในการฉาบปูนผนังไม่ถูกต้อง ฯล
– อุณหภูมิและสภาพแวดล้อมภายนอก เช่น ความร้อนจากแสงแดด, ลม, ฝนหรือความชื้น เป็นต้น พูดง่ายๆว่าโดนร้อนก็ขยายตัว โดนชื้นก็หดตัว เมื่อมีการขยายตัวหรือหดตัวของปูนที่ฉาบผนังการแตกร้าวก็ตามมา แต่ถ้าขั้นตอนการฉาบปูนหรืออัตราส่วนผสมถูกต้อง มีการบ่มผนังบ้านที่ฉาบเสร็จแล้วอย่างถูกวิธี ก็จะลดอัตราการแตกร้าวของผนังให้น้อยลงได้
*ผมยังไม่เคยเห็นผนังบ้านที่ฉาบปูนภายนอกไม่มีรอยแตกเลยครับ เพียงแต่ว่าถ้าทำได้คุณภาพดี ก็แค่แตกลายงาธรรมดาไม่หลุดร่อน และมีรอยแตกน้อย
สังเกตมั้ยครับว่าผนังที่เกิดการแตกร้าวหรือแตกลายงานั้น ส่วนใหญ่จะเกิดที่ผนังภายนอก เพราะอะไรหรือครับ ก็เพราะก็ภายนอกโดนทั้งแดด ลม ฝน ไงครับ ผนังภายนอกรับศึกหนักมากกว่าผนังภายในผลก็คือมันจึงมีการแตกร้าวมากกว่าผนังภายในอย่างที่เห็นนั่นเอง
ลักษณะรอยแตกร้าวของผนังบ้าน แบบที่เห็นทั่วไปก็จะเป็น
– แตกลายงา เป็นยังไงครับแตกลายงา ลักษณะการแตกก็จะแตกเป็นรูปเหมือนกับรากกิ่งไม้ครับ นึกออกมั้ยครับ แตกเป็นเหมือนแขนงรากต้นไม้ เป็นหยักๆแผ่ออกไป
– แตกเป็นแนวเส้นตรง เป็นตามขอบมุมวงกบประตู หรือมุมเสา,มุมผนัง
ก็อธิบายคร่าวๆนะครับ ในที่นี้ผมจะไม่พูดถึงรอยแตกร้าวที่เกิดจากการทรุดตัวของโครงสร้างบ้านนะครับ เป็นคนละเคสกัน การซ่อมแซมก็ไม่เหมือนกัน
มาพูดถึงวิธีซ่อมรอยแตกร้าวบนผนังบ้าน ในที่นี้ผมหมายถึงการซ่อมรอยร้าวของผนังแบบแตกลายงา หรือแตกร้าวจากคุณภาพของการฉาบปูนผนังบ้านไม่ดีนะครับ, การแตกร้าวตามมุมวงกบประตู-หน้าต่าง โดยเฉพาะวงกบที่ทำจากไม้
ก่อนที่จะทำการซ่อมก็ต้องตรวจสอบดูก่อนว่ารอยแตกร้าวนั้นเป็นอย่างไร แตกร้าวเฉพาะผิวหน้าผนังหรือว่าแตกร้าวและหลุดร่อนไปถึงชั้นในของผนังบ้าน วิธีตรวจสอบก็ง่ายๆครับ ใช้นิ้วมือเรานี่แหละเคาะดูครับ !
กรณีที่ 1 ถ้าเคาะแล้วเกิดมีเสียงดังก้องๆ แสดงว่ารอยแตกร้าวบริเวณนั้น ปูนฉาบที่ฉาบทับผนังอิฐก่อเกิดการกะเทาะหลุดร่อนออกจากก้อนอิฐ ไม่ช้าไม่นานก็จะกะเทาะหลุดออกมาเป็นแผ่น การซ่อมแซมบ้านที่ผนังแตกร้าวแบบนี้ก็ต้องสกัดเอาส่วนที่กะเทาะหรือหลุดร่อนออก ก่อนสกัดก็ต้องใช้ลูกหมู 4 นิ้วพร้อมใบที่ใช้ตัดกระเบื้องนั่นแหละครับ ตัดเป็นวงล้อมรอบบริเวณที่จะทำการสกัดเอาส่วนที่ร่อนออกแล้วค่อยทำการสกัดเอาปูนฉาบผนังส่วนที่ร่อนออก เพราะถ้าเราไม่ตัดเป็นแนวล้อมไว้ก่อน เมื่อทำการสกัดก็อาจทำให้ผนังหลุดกะเทาะลามออกไปเรื่อยๆ
สำหรับวิธีซ่อมรอยแตกร้าวบนผนังบ้าน โดยการสกัดผนังนั้น ก็ใช้ค้อนกับตะปูคอนกรีตค่อยๆตอกสกัดออกโดยการเอาดอกตะปูคอนกรีตตอกเข้ากับสายยางเพื่อทำเป็นด้ามจับ ไม่ควรใช้เครื่องมือสกัดแบบแรงๆ เพราะอาจทำให้ผนังกะเทาะลามออกไป เมื่อสกัดปูนฉาบผนังเดิมออกหมดแล้วช่างก็จะทำความสะอาดผิวโดยการสลัดน้ำล้างให้ชุ่มแล้วก็ทำการฉาบปูนซ่อมบริเวณที่สกัดออก ก่อนทำการฉาบปูนซ่อมช่างฯอาจจะสลัดดอก***ไว้ก่อนก็ได้หรือจะใช้น้ำยาช่วยยึดเกาะ (Bonding) ทาก่อนทำการฉาบปูนซ่อมผนังก็ได้ เพื่อช่วยการยึดเกาะของปูนฉาบกับผนังอิฐก่อได้ดียิ่งขึ้น ( อันนี้ก็แล้วแต่เทคนิคของช่างฯ )
กรณีที่ 2 สำหรับรอยแตกร้าวหรือรอยแตกลายงาผนังบ้าน ที่เคาะแล้วไม่มีเสียงก้องหรือมีเสียงแน่นๆ ทึบๆก็แสดงว่าปูนฉาบผนังบริเวณนั้นไม่มีการหลุดร่อนเป็นเพียงแต่การแตกบนผิวหน้าปูนฉาบเท่านั้น การซ่อมแซมรอยร้าวผนังกรณีนี้ก็ง่ายครับ ใช้วัสดุสำหรับเก็บรอยแตกลายงาที่มีขายตามร้านขายวัสดุก่อสร้างทั่วไป เอามาอุดโป๊วหรือทาทับปิดรอยร้าวแล้วทาสีทับตามปกติได้เลย
วิธีซ่อมรอยแตกร้าวบนผนังบ้าน แบบนี้ช่างสีก็จะใช้สันเกรียงโป๊วสีที่คมๆกรีดไปตามแนวร่องที่แตกลายงานั้นให้เป็นร่องเล็กน้อยเพื่อวัสดุที่ใช้อุดโป๊วหรือแบบใช้ทา จะได้ซึมลงไปอุดรอยแตกร้าวในร่อง เสร็จแล้วก็ขัดแต่งแล้วทาสีทับได้เลย ทั้งนี้ทั้งนั้นวิธีการซ่อมให้ได้ผลดีสำหรับตัววัสดุที่เราเลือกมาซ่อมก็ให้ดูวิธีใช้ที่เขาแนะนำมานะครับ
ตัววัสดุที่ใช้ในการซ่อมรอยร้าวผนังแบบนี้บางบริษัทฯก็ผลิตออกมาเป็นสีสำหรับทาปิดรอยร้าวได้เลยโดยจะเป็นฟิล์มเคลือบบริเวณที่ทาและยืดหยุ่นได้ เมื่อทาปิดรอยแตกลายงาแล้วก็สามารถทาสีทับได้ หรือ บางตัวก็เป็นแบบโป๊วอุดปล่อยให้แห้งแล้วขัดแต่งให้เรียบก่อนทาสีทับ
***สลัดดอก ก็คือ การเอาปูนซีเมนต์ไม่ต้องผสมทราย ผสมกับน้ำให้เหลวข้นเหนียวพอดีแล้วใช้ไม้ก้านมะพร้าวมัดเป็นกระจุกจุ่มลงไปในน้ำปูนแล้วสลัดไปบนผิวของผนังที่เราจะฉาบปูน น้ำปูนที่สลัดไปเมื่อปล่อยให้แห้งก็จะแข็งยึดติดกับผนังเป็นเม็ดนูนตะปุ่มตะป่ำ จุดประสงค์ก็เพื่อไม่ให้ผนังบริเวณที่จะฉาบมีผิวเรียบจนเกินไปซึ่งอาจทำให้การยึดเกาะของปูนที่ใช้ฉาบผนังไม่ดีเท่าที่ควรซึ่งอาจทำให้ผนังเกิดการแตกร้าวหลุดร่อนในภายหลังได้ ซึ่งปุ่มนูนที่สลัดน้ำปูนไว้นี้จะช่วยยึดเกาะปูนฉาบกับผนังได้ดียิ่งขึ้น
– รูปบนสุดเป็นการซ่อมผนังแตกลายงาในกรณีที่ 2
สวัสดีครับ..
1.รอยแตกร้าวเราสามารถใช้ปูนสำหรับซ่อมรอยร้าวที่มีขายก็ได้เหมือนกันหรือเปล่าครับ
2.วงกบประตูที่เขายึดกับตัวเสาปูนมันจะมีรองอยู่ไม่แนบสนิท เราใช้ปูนซ่อมรอยร้าวอุดอัดเข้าไปจะดีไหมครับ
ขอบคุณครับ…
@คุณน้อง
1.ได้ครับ มีเยอะแยะหลายยี่ห้อก่อนซื้อก็อ่านดูคุณสมบัติที่เขาเขียนไว้ว่าใช้ซ่อมรอยร้าวชนิดไหน?
2.ถามว่าดีไหม?มันก็ไม่ได้เสียหายอะไรนะครับ เป็นเรื่องของความรู้สึก ทำก็ดีไม่ทำก็ไม่เป็นไร ถ้าอยากอุดก็อุดได้เอาปูนที่คุณว่าอุดก็ได้หรือถ้าร่องไม่ใหญ่มากเอาปูนตราลูกดิ่งที่ใช้ฉาบผิวบางโป๊วอุดก็ได้(โป๊วอุดให้เรียบ ทิ้งให้เเข็งแล้วขัดให้เรียบด้วยกระดายทรายเสร็จแล้วทาสีทับ)ปูนลูกดิ่งใช้กระดาษทรายขัดแต่งให้เรียบได้