อัพเดท ทำเคาน์เตอร์ครัว ต่อเติมครัว
วันนี้ก็มาอัพเดทเรื่องราวการทำเคาน์เตอร์ครัวในงานต่อเติมครัวที่บ้านผมต่อครับ ซึ่งก็มีความคืบหน้าจากเดิมไปบ้างเล็กน้อย เพราะผมทำมั่งไม่ทำมั่ง แล้วแต่ความขยัน (ขยันน้อย) สุดท้ายแล้วก็ไม่สามารถทำได้เสร็จก่อนออกพรรษาตามที่ตั้งใจไว้ ก็ไม่เป็นไรครับ!! มันต้องเสร็จซักวันแหละน่า.. จากตอนที่แล้ว (ตอนไหนก็ไม่รู้) ผมได้ติดตั้งพื้นเคาน์เตอร์ไปบ้างแล้ว ก็จะเหลืออยู่ส่วนเดียวก็คือพื้นเคาน์เตอร์ส่วนที่เป็นอ่างซิงค์ ซึ่งได้หล่อคอนกรีตไว้แล้ว ก็เหลือแต่ขั้นตอนยกขึ้นไปติดตั้ง

ในรูปนี้ก็เป็นตัวพื้นฯที่หล่อฯไว้ ผมแกะแบบหล่ออกมาแล้วเตรียมยกขึ้นไปติดตั้ง ตอนติดตั้งก็ยกกันสองคน ไม่หนักมากเท่าไหร่เพราะหล่อฯไว้หนาประมาณ 6 เซนติเมตร แล้วมันมีเว้นช่องตรงกลางด้วยก็เลยไม่ค่อยหนัก (ไม่เหมือนแผ่นพื้นที่ยกติดตั้งไปก่อนหน้า อันนั้นมันตันแล้วหนักจริงๆ ที่ผมบอกหนักเพราะผมแบกคนเดียวนะครับ ถ้าสองคนก็ไม่หนักเท่าไหร่)

มาถึงวิธีติดตั้งก็เหมือนเดิมครับ การทำเคาน์เตอร์ครัวสูตรผม (ขอโม้นิด) ใช้ปูนสำหรับก่ออิฐมวลเบาเป็นตัวช่วยยึดระหว่างตัวขาเคาน์เตอร์ที่ทำจากอิฐมวลเบากับแผ่นพื้นเคาน์เตอร์ เมื่อติดตั้งเสร็จแล้วผมก็ปล่อยทิ้งไว้หนึ่งคืนเพื่อให้ปูนแข็งตัว ระหว่างที่ปูนยังไม่แห้งก็ต้องระวังอย่าให้สมาชิกในบ้านไปโดนเดี๋ยวจะเกิดการเคลื่อนตัวเสียรูปทรงหรือเคลื่อนผิดตำแหน่งเดิม
รุ่งเช้ามาดูก็แข็งแล้วครับ ตอนเย็นก็เลยลองมาทดสอบดูว่ายึดติดแน่นดีหรือไม่? โดยดึงหรือยกดู (ออกแรงดึงหรือยกพอสมควร ผมกะว่าถ้าจะหลุดก็ให้หลุดออกมาเลยถ้าไม่แน่นจริงๆจะได้ทำใหม่) ก็ปรากฎว่าติดแน่นดีครับ
ถ้าถามว่า มีโอกาสหักตรงกลางหรือไม่ เพราะเห็นว่าขอบพื้นทั้งสองข้าง ที่ขนานอยู่บริเวณช่องซิงค์มีขนาดเล็กและบอบบาง ผมค่อนข้างมั่นใจว่าไม่หักแน่ครับ เหตุผลเพราะ…
1. ตอนเสริมเหล็กหล่อแท่นพื้นฯ ผมใช้เหล็กข้ออ้อยขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 12 มิลลิเมตร เสริมตามแนวยาวด้านละสองเส้น (ตรงขอบบน-ล่าง ที่เห็นเป็นช่องใส่ซิงค์นั่นแหละครับ) แล้วใช้เหล็กขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 6 มิลลิเมตร ทำเป็นปลอกลูกโซ่รัดแกนเหล็กข้ออ้อย 12 มม.เข้าด้วยกัน
2. ผมได้เตรียมเหล็กฉาก เพื่อใช้ยึดค้ำพื้นเคาน์เตอร์ด้านล่างช่วงกลางเสริมอีก บริเวณด้านที่ติดกับผนังเบา
3. ส่วนที่เป็นขอบด้านนอก อันนี้เดี๋ยวต้องใส่ตู้และก่ออิฐขึ้นไปรับท้องพืนเคาน์เตอร์อยู่แล้ว
***สำหรับท่านที่จะหล่อแท่นเคาน์เตอร์หรือทำเคาน์เตอร์ครัวเอง โดยเฉพาะแท่นซิงค์ ถ้าหล่อชนผนังปูนก็ควรเจาะเสียบเหล็กออกมาจากผนังปูนด้วยจะได้ช่วยพยุงแท่นซิงค์ไว้ไม่ให้เกิดหักหรือร้าวตรงกลาง เนื่องจากว่าเราต้องเว้นช่องตรงกลางไว้สำหรับใส่อ่างซิงค์ ก็เลยทำให้ตัวขอบเคาน์เตอร์ดูบอบบาง อย่างของผมผนังครัวเป็นผนังเบาไม่สามารถเสียบเหล็กได้ ก็เลยเสริมจุดนี้โดยการเสริมเหล็กในคอนกรีตให้มีขนาดใหญ่ขึ้น และใช้เหล็กฉากหรือเหล็กกล่องช่วยค้ำจากด้านล่าง
วันนี้ก็ขออัพเดทเรื่องการทำเคาน์เตอร์ครัวในงานต่อเติมครัวหลังบ้านไว้เพียงเท่านี้ครับ !! (เห็นผมปูกระเบื้องผนังไว้แพลมๆมั้ยครับ เดี๋ยวโอกาสต่อไปจะมาเล่าเทคนิคการปูกระเบื้องบนผนังเบาหรือผนังที่บุด้วยแผ่นสมาร์ทบอร์ด)
ซื้อของมาครบแล้ว จะเริ่มลงมือทำตามแล้วครับ เอๆๆๆๆ ว่าแต่ว่า ปูนก่ออิฐมวลเบาที่เหลือสามารถเอาไปใช้ทำอะไรได้บ้างครับ เช่นติดกระเบื้อง? ซื้อมากระสอบ 50 กิโล เหลือบานเลย
ผมก็ไม่เคยใช้ปูกระเบื้องนะครับ เพราะเห็นที่ถุงเค้าบอกว่าใช้สำหรับก่ออิฐมวลเบาไม่บอกคุณสมบัติอย่างอื่นก็เลยไม่เอาไปใช้ทำอย่างอื่น (และถ้าเป็นในการทำงานประจำผมจะไม่ให้ใช้เลยครับวัสดุที่ไม่ถูกสเปคหรือไม่ตรงตามประเภทของงาน) ของผมที่ใช้ทำเคาน์เตอร์ครัวก็เหลืออยู่ครึ่งถุงเมื่อกี้พออ่านคอมเมนต์คุณผมก็เลยไปยกถุงออกมาดู ปรากฏว่าปลวกอยู่ใต้ถุงเพียบต้องตัดใจเอาไปทิ้งแล้วละครับ สำหรับงานปูกระเบื้องผมว่าซื้อปูนกาวสำหรับปูกระเบื้องมาปูฯดีกว่าครับ ถ้าใช้ปูนก่ออิฐมวลเบามาปูฯเดี๋ยวเกิดหลุดร่อนทีหลังอาจจะทำให้เสียเวลาและเสียเงินเพิ่ม, ส่วนการก่ออิฐทำขาเคาน์เตอร์พยายามใช้ระดับน้ำทาบเช็คตลอดนะครับ ก่อให้ตรงได้ดิ่ง และได้แนวฉากกับผนัง(ใช้เหล็กฉากวัด) เพราะมันจะมีผลเวลาปูกระเบื้อง จะทำให้ปูกระเบื้องง่าย
***สำหรับปูนก่ออิฐมวลเบาถ้าอยากเก็บไว้ใช้งาน ก็เอาถุงพลาสติกห่อไว้มัดปากให้มิดชิกันความชื้นครับ อย่าวางบนพื้นปูนต้องหาอะไรมารองไว้
ขอบคุณครับบบบ
โหพี่ สุดยอดอ่ะ บทความพี่่น่าสนใจมาก พี่มีเฟสบุคมั้ย ผมสะดวกติดตามในเฟสมากกวาา
@sulaiman หน้าเฟสฯมีครับ อยู่แถบด้านขวามือของหน้าเว็บครับ (ชื่อเพจจะเป็นคนละชื่อกับชื่อเว็บ ผมลืมเปลี่ยนชื่อให้เหมือนกันตั้งแต่ตอนแรกตอนนี้ก็เลยเปลี่ยนไม่ได้แล้ว)