ใช้เหล็กรูปพรรณทำโครงสร้างบ้าน
ที่ผ่านๆมาก็มีหลายๆท่านสอบถามเข้ามาทางเมล์หรือทางหน้าเพจเกี่ยวกับการสร้างบ้านโดย ใช้เหล็กรูปพรรณทำโครงสร้างบ้าน ว่าสามารถทำได้หรือไม่? แล้วมีวิธีหรือขั้นตอนการก่อสร้างอย่างไร? ผมก็ได้เคยตอบไปหลายท่านอยู่ พอดีเมื่อวันหยุดที่ผ่านมาผมได้ไปทำธุระในซอยวัชรพล แถวตลาดถนอมมิตร (คนที่อยู่ต่างจังหวัดอาจสงสัยว่านี่มันที่ไหนกันหนอ? อยู่ใน กทม. เมืองฟ้าอมรนี่เอง ครับ!!)
ผมก็ไปเจอไซท์งานก่อสร้างขนาดไม่ใหญ่มากกำลังก่อสร้างกันอยู่ โดยการใช้เหล็กรูปพรรณที่ผมกำลังพูดถึงนี่แหละทำเป็นโครงสร้าง ก็เลยจอดรถลงไปถ่ายรูปเพื่อเอามาให้คนที่สนใจในการสร้างบ้านด้วยวิธีนี้ได้ดูกัน
เหล็กรูปพรรณ ในที่นี้ก็หมายถึงเหล็กที่มีลักษณะรูปทรงต่างๆอย่างที่หลายๆคนเคยเห็นมาแล้ว เช่น เหล็กกล่องรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส, เหล็กกล่องรูปสี่เหลื่ยมผืนผ้า, เหล็กตัวซี, เหล็กฉาก, เหล็กเอชบีม, เหล็กไอบีม, เหล็กไวแฟรงค์ ฯล
การใช้เหล็กรูปพรรณทำโครงสร้างบ้าน ลักษณะการก่อสร้างหรือองค์ประกอบต่างๆก็ไม่ได้แตกต่างจากการทำโครงสร้างบ้านแบบคอนกรีตเสริมเหล็กที่ทำกันอยู่ทั่วไป ส่วนที่แตกต่างก็คือการเปลี่ยนวัสดุจากคอนกรีตเสริมเหล็กมาเป็นเหล็กรูปพรรณเท่านั้นเอง และส่วนที่แตกต่างอีกอย่างหนึ่งก็คือเทคนิคการก่อสร้าง
มาดูสิ่งที่เห็นในรูปกันครับ
ที่เห็นในรูปผมก็ไม่รู้ว่าเขาจะสร้างเป็นอะไร อาจจะเป็นบ้านพักอาศัย, เป็นอาคาร, ร้านค้า, หรือโกดัง อะไรก็แล้วแต่ (ดูแล้วน่าจะเป็นอาคารเพื่อการพาณิชย์) แต่ที่แน่ๆลักษณะหรือขั้นตอนของการก่อสร้างก็เหมือนการก่อสร้างบ้านหรือการก่อสร้างอาคารทั่วไป ซึ่งรูปที่เห็นก็ยังเป็นขั้นตอนการทำโครงสร้างอยู่ ตัวเสาและคานที่เราเห็นก็จะเป็นการใช้เหล็กรูปพรรณแทนอย่างที่ผมได้กล่าวมานั่นเอง ตัวเสาจะเป็นเหล็กเอชบีม ส่วนคานก็อาจใช้เป็นเหล็กเอชบีมหรือไอบีม ก็ได้แล้วแต่การออกแบบของวิศวกร ในส่วนของพื้นก็คงจะเป็นการใช้แผ่นพื้นสำเร็จรูปยกขึ้นไปวาง
ส่วนเทคนิคการก่อสร้าง หลายท่านอาจสงสัยว่าเหล็กเสาหรือเหล็กคานที่เห็นนั้น ขั้นตอนการติดตั้งนั้น เอาขึ้นไปติดตั้งอย่างไร? รถโมบายเครนครับ! งานนี้ต้องใช้รถโมบายเครนสถานเดียว ยกขึ้นไปแล้วต้องพยุงไว้จนกว่าจะเชื่อมยึดเสร็จจึงจะปลดเครนออกได้(การยึดประกอบชิ้นส่วนของเหล็กแต่ละชิ้นเข้าด้วยกันจะใช้วิธีการเชื่อมเหล็กหรือที่เรียกกันแบบบ้านๆว่า อ๊อกเหล็ก นั่นแหละครับ)
สำหรับข้อดีของการทำโครงสร้างด้วยเหล็กฯแบบนี้ ที่เห็นชัดๆก็คือ ในเรื่องของระยะเวลาในการก่อสร้างจะมีความรวดเร็วขึ้น และไม่ต้องสิ้นเปลืองไม้แบบมากมายที่ต้องใช้สำหรับหล่อคอนกรีต ส่วนเมื่อทำเสร็จออกมาแล้วจะสวยเหมือนบ้านที่ทำจากโครงสร้าง ค.ส.ล. หรือไม่นั้นก็ขึ้นอยู่กับฝีมือการออกแบบของสถาปนิกและจุดประสงค์ในการนำบ้านหรืออาคารนั้นไปใช้งานของเจ้าของบ้าน
ก็เอาตัวอย่างมาเล่าให้ฟังเพียงเท่านี้นะครับ สำหรับคนที่สงสัยว่าสามารถใช้เหล็กทำโครงสร้างบ้านได้หรือไม่? ก็คงหายสงสัยกันนะครับ
ขอบคุณครับ
สวัสดีค่ะ
กำลังสร้างบ้านด้วยโครงเหล็กค่ะ แล้วจะใช้ไม้ฝาเฌอร่าเป็นผนัง เลยอยาดสอบถามวิธีติดตั้งค่ะ แล้วที่สุดความยาวของแผ่นไม้ฝาแผ่นต่อไปต้องติดตั้งแบบไหนค่ะ ชนต่อกันไปเลย หรือว่าทับซ้อน
ขอบคุณค่ะ
@คุณapple
ต่อชนครับ ก่อนติดตั้งก็ควรวางแผนนิดหนึ่ง
– ควรกำหนดตำแหน่งที่จะต่อ ถ้าต่อสะเปะสปะมันก็จะไม่สวย จะเห็นรอยต่อเต็มไปหมด
– ตำแหน่งที่ต่อก็ระวังเรื่องการรั่วซึม ถ้าเป็นไปได้ก็ดูทิศทางของฝน หากมีมุมที่ฝนสาดไปไม่ถึงก็ควรเลือกต่อที่บริเวณนั้น
– ตำแหน่งที่ต่อก็ต่อให้ตรงกับโครงเคร่าเหล็ก เว้นระยะรอยต่อเล็กน้อยเพื่อที่จะใช้วัสดุอุดกันซึมซีลปิดได้ หากต่อชนกันเลยวัสดุอุดรอยต่อจะอุดเข้าไปไม่ได้
– หากอยากให้สวยงามก็ต่อไม้ให้อยู่ในแนวเดียวกันหมดในแนวดิ่ง เมื่ออุดซีลกันซึมแล้วอาจตีไม้ทับปิดตำแหน่งรอยต่อก็จะมองไม่เห็นรอยต่อ ตัวไม้ที่ตีปิดทับนี้หากกำหนดตำแหน่งดีๆก็ถือเป็นการตกแต่งได้(เปรียบเสมือนเป็นบัวตกแต่งผนังไม่ให้ดูเรียบจนเกินไป)
ผมเห็นรถขนเหล็กกล่องสีอลูมิเนียมผมเลยไปดูตามร้านขายเหล็กแถวบ้านไม่มีเหล็กแบบนี้เลยครับไม่รู้ว่าราคาแพงกว่าเหล็กกล่องทั่วไปมากไหมครับเหล็กแบบนี้ไม่ต้องทาสีกันสนิมถูกไหมครับ
@คุณkorn
ที่คุณเห็นน่าจะเป็นอลูมิเนียมมั้งครับ ก่อนที่จะเอามาตัดประกอบขึ้นรูปก็จะเห็นเป็นท่อนๆอย่างนั้นล่ะ หลังจากนั้นช่างฯก็จะเอามาตัดแล้วประกอบขึ้นรูปเป็นประตูหรือหน้าต่างอลูมิเนียม(ร้านขายเหล็กไม่มีหรอกครับต้องไปดูที่ร้านขายเฟรมอลูมิเนียม) เรื่องราคาอันนี้ผมก็ไม่รู้เพราะไม่เคยซื้อแบบเป็นท่อน เคยแต่สั่งให้เขาประกอบมาให้เลย ส่วนเรื่องทาสีกันสนิมนี้ไม่ต้องทาเพราะเป็นอลูมิเนียม
ผมกำลังจะสร้างบ้านขนาดเล็กๆ ประมาณ 40-45 ตารางวา 1 ห้องนอน 1 ห้องน้ำ 1 ห้องโถง. ยกสูง 60 Cm อยากทราบว่า ถ้าผมจะใช้เป็นโครงเหล็กเฉพาะเสา แต่ตัวผนังใช้ก่ออิฐฉาปปูน มันจะเข้ากันได้ หรือสามารถทำได้หรือเปล่าครับ
@คุณB-pakorn
ได้ครับเขาก็ทำกันอยู่ทั่วไป สิ่งที่จะต้องเน้นก็คือ ตอนที่เราจะก่ออิฐไปชนกับเสาเหล็ก ต้องใช้เทคนิคให้ดีต้องก่อให้ผนังอิฐยึดติดกับเสาเหล็กให้ดี โดยต้องเชื่อมเหล็กหนวดกุ้งออกมาจากเสาเหล็กจะได้ช่วยยึดหรือดึงผนังไว้ หากไม่เชื่อมเหล็กหนวดกุ้งหรือก่ออิฐไปชนเสาเหล็กเฉยๆเมื่ออยู่ไปนานๆโอกาสที่ผนังจะกระเทาะเป็นรอยแยกตามแนวเสาก็มีมาก ส่วนตอนฉาบปูนก็เอาตาข่ายกรงไก่แบบสี่เหลี่มตีปิดหน้าเสาเหล็กไว้เวลาฉาบปูนจะได้ติดไม่หลุดร่อนง่ายๆ (ติดตาข่ายไม่ต้องให้แนบสนิทกับหน้าเสามากนัก ควรให้มีช่องว่างเล็กน้อย)
ผมอยากทราบว่า ถ้าเราใช้โครงเหล็กสร้างบ้าน แต่ต้องการเทพื้นเป็นปูนและปูกระเบื้อง ขั้นตอนการติดตั้งเสาเหล็กทำแบบขุดหลุมฝังลงไปแล้วเทปูนปิดหลุมเสา. หรือว่าใช้เหล็กข้ออ้อยหล่อคานเสาแล้วเอาเสาเหล็กมาวางเชื่อมบนฐานเสาครับ. หรือมีวิธีการติดตั้งเสาเหล็กแบบไหนที่นิยมใช้กันในการใช้โครงสร้างแบบนี้ครับ
@คุณBBPK
ปกติแล้ววิศวกรจะเป็นคนออกแบบ แนวคิดง่ายๆคือชิ้นส่วนโครงสร้างบ้านที่เป็นเหล็กจะไม่ถูกออกแบบให้ฝังอยู่ในดินเปลือยๆเพราะจะทำให้เหล็กเกิดเป็นสนิมในอนาคต อย่างในรูปนี้เขาจะหล่อฐานรากบ้านด้วยคอนกรีตเสริมเหล็กแล้วเทเสาตอม่อคอนกรีตให้โผล่พ้นระดับดินขึ้นมา แล้วฝังเหล็กเพลทไว้ที่หัวเสาตอม่อเพื่อที่จะยกเหล็กเสาไอบีมมาตั้งแล้วเชื่อมติดกับเหล็กเพลทที่อยู่บนเสาตอม่อ พูดง่ายๆก็คืออยู่ที่การออกแบบและความต้องการของเจ้าของอาคารครับ อย่างเช่น หากต้องการให้พื้นชั้ันล่างอยู่ติดระดับดินก็อาจต้องเทคานเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กก่อนแล้วค่อยเอาเสาเหล็กตั้งบนหลังคานหรือหลังเสาตอม่ออีกทีนึง หรือว่า หากพื้นชั้นล่างคุณต้องการออกแบบให้ยกระดับพื้นไม่ให้ติดดินก็สามารถใช้เหล็กไอบีมทำคานชั้นล่างโดยวางบนเสาตอม่อได้เลย แล้วก็ใช้พื้นสำเร็จรูปวางพาดได้เลย ขั้นตอนต่อไปก็ทำเหมือนการสร้างบ้านปกตินั้นแหละครับ เช่น การเทคอนกรีตทับหน้าแผ่นพื้น ปูกระเบื้องพื้น ฯลฯ ทั้งนี้ควรปรึกษาวิศวกรที่มีความชำนาญเป็นผู้ออกแบบให้นะครับ
สวัสดีค่ะ พอดีอยากจะสอบการเกี่ยวกับการใช้เหล็กในการทำเสาบ้านพร้อมคานด้านบนค่ะ ต้องใช้เหล็กขนาดเท่าไหร่แบบไหนบ้างค่ะ(ประหยัดงบ) ขนาดบ้านประมาณ 6*9 เมตรค่ะ ผนังบ้านใช้เป็นไม้ฝาเชอร่าค่ะ หลังคาปูกระเบื้อง พื้นใช้เป็นวีว่าบอร์ดค่ะ
ส่วนพื้นวีว่าบอร์ด ต้องทำตงเหล็กขนาดเท่าไหร่ค่ะ ถึงจะปลอดภัยและรับน้ำหนักได้ดี
2 ห้องนอน 1 ห้องน้ำ 1 ห้องครัว 1 ห้องนั่งเล่นค่ะ
@คุณNat
ต้องสอบถามหรือปรึกษาวิศวกรที่ทำงานด้านออกแบบบ้านครับเพราะนี่คือการออกแบบบ้าน วิศวกรจะเป็นคนคำนวณให้ว่า ต้องใช้เสาขนาดเท่าไหร่? ใช้เหล็กขนาดเท่าใหร่?,ใช้คานขนาดเท่าไหร่? เป็นต้น (เขาจะมีทฤษฎีรองรับ มีรายการคำนวณให้ดูว่าทำไมถึงต้องเป็นอย่างนี้ และมีใบประกอบวิชาชีพรับรอง) แต่ถ้าไม่ใช่วิศวกรเป็นช่างทั่วไปทีไม่มีใบประกอบวิชาชีพ(พูดถึงการออกแบบบ้านนะครับ)ที่มีประสบการณ์เขาก็ออกแบบให้ได้แต่ก็เหมือนคุณไปหาหมอที่ไม่มีใบประกอบวิชาชีพ ก็มีความเสี่ยงครับ! ส่วนผมจะถนัดในเรื่องการนำเทคนิคก่อสร้างมาใช้ในการสร้างบ้านเพื่อก่อสร้างให้ได้ตามที่ออกแบบมา พูดง่ายๆสถาปนิกจะเป็นคนออกแบบรูปทรงบ้าน-ออกแบบตกแต่งบ้านทั้งหมด,วิศวกรจะเป็นผู้ออกแบบโครงสร้างบ้าน,โฟร์แมนจะทำหน้าที่ควบคุมงานก่อสร้างบ้านให้ได้ตามที่ออกแบบมา (ผม) ก็ประมาณนี้ครับ