อยากรู้วิธีติดตั้งถังบำบัดน้ำเสีย?
งานติดตั้งถังบำบัดน้ำเสีย ในบ้านพักอาศัย ก็คืองานในหมวดงานสุขาภิบาลของการสร้างบ้าน วันนี้ก็เอาเกร็ดความรู้วิธีการติดตั้งถังบำบัดฯมาแนะนำกันครับ ว่าเขาติดตั้งกันอย่างไร?และไอ้เจ้าถังนี้มันทำงานอย่างไร? มีเทคนิคช่างอะไรบ้างในการติดตั้ง
ถังฯสีดำที่เห็นในรูปนี้เป็นถังฯขนาดความจุ 1600 ลิตร ที่ใช้กันทั่วไปตามบ้าน ด้านในของถังก็แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่งก็เป็นบ่อดักตะกอนทำหน้าที่ดักตะกอนไว้ อีกส่วนก็จะทำหน้าที่คล้ายๆบ่อซึม ก็คือ น้ำเสียจะผ่านชั้นกรองออกมาจากส่วนที่ดักตะกอน แล้วไหลออกไปบ่อพักนอกบ้านก่อนไหลออกสู่ท่อสาธารณะต่อไป
ขั้นตอนกการติดตั้งถังบำบัดน้ำเสีย
1.ขุดหลุมให้กว้างกว่าเส้นผ่าศูนย์กลางถังฯด้านละประมาณ 25 เซนติเมตร
2.กดเสาเข็มเพื่อทำฐานรับถังบำบัดฯ อย่างในรูปก็จะกดเสาเข็มหกเหลี่ยม จำนวน 4 ต้น(ความยาว 4 เมตร) แล้วเทพื้นคอนกรีตหนา 10 ซ.ม. เทฯให้กว้างกว่าเส้นผ่าศูนย์กลางถังฯด้านละประมาณ 25 เซนติเมตร
3.ยกถังฯวางลงไปที่พื้น(ฐานรับถังฯ) ดูให้ระดับท่อโสโครกที่ออกมาจากตัวบ้านตรงกับท่อเข้าถังฯหรือท่อเข้าถังฯจะต่ำกว่าท่อที่ออกมาจากบ้านเล็กน้อยก็ได้
4.เสร็จแล้วใส่น้ำให้เต็มถังฯก่อนเลยครับ ก่อนที่จะกลบถังฯ ไม่อย่างนั้นถ้ากลบดินหรือทรายก่อน ดินหรือทรายอาจไปดันถังให้บุบได้
5.ต่อท่ออากาศ หรือท่อเข้า,ท่อออก ให้เรียบร้อย
6.เสร็จแล้วกลบด้วยทรายให้เต็ม ทำให้ทรายแน่นโดยการฉีดน้ำรด (อย่าฉีดจนท่วมหลุมนะครับ เดี๋ยวจะเห็นถังที่ใส่น้ำแล้วลอยตุ๊บป่องขึ้นมา) ต้องรีบกลบครับ
***ถ้าหากเอาถังลงแล้วท่อเข้าถังฯต่ำกว่าระดับท่อโสโครกที่ออกจากบ้านมากก็ยกขึ้นแล้วเอาทรายถมรองที่พื้นฐานให้สูงขึ้นมาอีก แต่ถ้าปากท่อเข้าของถังฯสูงเกินกว่าท่อที่ออกมาจากบ้านก็คงต้องทุบฐานเทฯใหม่ครับ..แสดงว่าทำระดับผิด
**การดูแลรักษาหลังจากได้ติดตั้งถังบำบัดน้ำเสียแล้ว**
ก็ควรสูบกากตะกอนออกบ้างครับถึงแม้ว่าถังฯจะไม่เต็มก็ตาม กากตะกอนมันจะทับถมขึ้นเรื่อยๆถ้าไม่สูบออกบ้างมันก็จะทำให้ประสิทธิภาพการบำบัดน้ำเสียลดลง ก็ประมาณ 3-5 ปี ควรสูบสักครั้งหนึ่ง(ขึ้นอยู่กับการใช้งาน ถ้าใช้งานเยอะก็ประมาณ 3 ปีต่อครั้ง กำลังดีครับ)
***หลังจากสูบกากตะกอนออกแล้วต้องรีบปล่อยน้ำเข้าถังฯให้เต็มเหมือนเดิมนะครับ(เหมือนตอนติดตั้งครั้งแรก)ไม่อย่างนั้นถังฯอาจยุบหรือบี้ได้จากน้ำหนักกดทับของดินด้านบนและแรงดันดินด้านข้าง(ถังฯเปล่าไม่มีน้ำ)
ซื้อบ้านโครงการ ช่างเดินท่อโสโครกจากตัวบ้านมาอยู่ต่ำกว่าท่อเข้าถังบำบัด และแก้ปัญหาโดยตัดต่อท่อเข้าถังใหม่ โดยกดให้ท่อเข้าถังบำบัดใหม่อยู่ต่ำลงกว่าเดิม 2-3 ซม
อยากทราบว่า
1. จะทำให้มีปัญหาน้ำขาออกจากถังบำบัดไปลงท่อระบายน้ำยากขึ้นไหม กดชักโครกแล้วจะมีปัญหากดลงยากหรือไม่
2. จะมีกลิ่นย้อนขึ้นมาในห้องน้ำได้หรือไม่
3. ควรยืนยันให้แก้ไขโดยวางถังบำบัดให้ระดับต่ำกว่าเดิมหรือไม่ และกรณีนี้ควรเปลี่ยนถังใหม่ที่ไม่มีการตัดต่อท่อเข้าหรือไม่
@คุณSS
1.น้ำขาออกมันไม่มีปัญหาหรอกครับ มันก็ออกของมันปกติ ตราบใดที่ท่อเข้ามันยังอยู่สูงกว่าท่อออก ส่วนที่ถามว่ากดชักโครกแล้วจะลงยากมั้ย ท่อเข้าก็มีส่วนหากท่อที่ออกมาจากตัวบ้านลาดเอียงออกมาสวมกับท่อเข้าถังฯได้พอดีก็ไม่มีปัญหา แต่หากท่อออกมาแล้วพอจะเข้าถังฯปากทางเข้าดันอยู่สูงกว่า น้ำก็จะเอ่ออยู่ปากถัง แล้วถ้ายิ่งปากท่อเข้าอยู่สูงกว่ามากน้ำก็จะเอ่อมาก และหากระยะท่อจากชักโครกมาหาถังฯสั้นน้ำก็มีโอกาสเอ่อย้อนกลับไปที่ชักโครก ทำให้กดลงยาก
2.ไม่เกี่ยวกันครับ กลิ่นจะย้อนขึ้นมาได้หรือไม่ได้อยู่ที่ตะแกรงดักกลิ่น หรือ floor drain ที่ติดตั้งอยู่ที่พื้นห้องน้ำ ลองอ่านเรื่อง floor drain ดูครับผมเขียนไว้แล้ว
3.วิธีแก้ไขที่ถูกต้อง ก็ต้องแก้ที่ระดับท่อต้องขุดปรับระดับการวางท่อโสโครกใหม่ หากแก้ไขที่ระดับท่อไม่ได้ก็ต้องขุดปรับระดับถังใหม่ การไปเจาะตัดต่อถังฯไม่ถูกต้องเพราะถังฯถูกหล่อหรือซีลรอยต่อมาจากโรงงานอย่างดีแล้ว ของดีๆกลายเป็นของเสีย อ่านมาถึงตรงนี้คุณรู้คำตอบแล้วนะ?
อยากทราบว่า
ชักโครกกับถังแซทควรวางท่อให้ลาดเอียงเท่าไหร่ถึงจะไม่มีปัญหาครับ เป็นบ้านชั้นเดียวอยากจะต่อเติมห้องน้ำอีกห้อง ระยะห่างระหว่างชักโครกกับถังประมาณ 12-15 เมตร. ขอบคุณครับ
@คุณPS
ความลาดเอียง 1:200 (ทุก 2 เมตร กดลง 1 ซ.ม.) ก็เพียงพอแล้วครับ ถ้าท่อยาว 15 ม.ก็ลาดเอียงประมาณ 7.5 ซ.ม.(ถ้า 12 ม.ก็ 6 ซ.ม.) อันที่จริงไม่ต้องไปกังวลมากหรอกครับว่าต้องลาดเอียงเท่าไหร่? ขอให้มันลาดเอียงน้ำก็ไหลได้แล้ว(ถ้าเป็นไปได้ระยะชักโครกกับถังบำบัดฯ ควรอยู่ใกล้ๆกัน) ประเด็นสำคัญต้องดูท่อที่จะต่อออกจากถังบำบัดฯ(ถังแซท)ด้วย เราจะระบายน้ำจากถังบำบัดไปออกที่ไหน? ถ้าไปออกท่อระบายสาธารณะ ก็ต้องเช็คระดับปลายท่อออกให้ดีก่อนวางถังบำบัดฯเพราะถ้าวางท่อต่ำไปจะกลายเป็นน้ำจากข้างนอกไหลเขามา