เทคนิคการเชื่อมโครงหลังคาบ้าน
สำหรับขั้นตอนการติดตั้งโครงหลังคาผมก็ได้เขียนไว้ก่อนหน้านี้แล้ว ในบทความนี้จะเป็นเกร็ดเล็กๆน้อยๆที่นำมาเพิ่มเติมเกี่ยวกับเทคนิคการ เชื่อมโครงหลังคาบ้าน ว่าช่างฯมีวิธีการเชื่อมเหล็กอย่างไร?เพื่อให้เกิดความแข็งแรง ทนทาน สามารถรับน้ำหนักวัสดุมุงหลังคาหรือต้านทานแรงลมได้โดยหลังคาบ้านไม่หลุดพังลงมา
ข้อ 1 และ 2 ดูรูปบน
1. เป็นลักษณะการเชื่อมเหล็กตัวซีประกบกัน ซึ่งส่วนใหญ่จะนำไปใช้กับตำแหน่งที่เป็น อเส, ดั้ง, อกไก,หรือ ตะเฆ่สัน เทคนิคการเชื่อมเหล็กประกบกันช่างฯก็จะเชื่อมเป็นจุดๆห่างกันประมาณจุดละไม่เกิน 40 เซนติเมตรไปจนสุดความยาวของเหล็ก (เหล็กตัวซียาว 6 เมตรต่อท่อน) โดยแต่ละจุดจะมีความยาวของรอยเชื่อมประมาณ 6-10 ซ.ม. เชื่อมทั้งสองด้าน (บนและล่าง)
2. เหล็กที่นำมาเชื่อมประกบกัน หากจำเป็นต้องมีการต่อเหล็กไม่ควรมีตำแหน่งต่อที่ตรงกันทั้งสองท่อน และควรมีการเชื่อต่อเหล็กตลอดแนวหน้าตัดโดยรอบก่อนนำไปเชื่อมประกบกัน
3. การนำเหล็กตัวซีที่เชื่อมประกบกันแล้วมาทำดั้งเหล็กเพื่อทำหน้าที่เป็นเสารับอกไก่ (จะเห็นแนวที่เชื่อมประกบ)
4. เป็นอกไก่ที่เชื่อมเหล็กตัวซีประกบกัน มองจากด้านล่างจะเห็นแนวเชื่อมเป็นจุด ตามข้อ1.
5. การเชื่อมโครงเหล็กหลังคา ต้องไล่เก็บรอยเชื่อมให้เต็มหรือเชื่อมให้รอบหน้าตัดเหล็กทุกจุดที่มีการต่อชนหรือประกอบเหล็กเข้าด้วยกัน (ยกเว้นการเชื่อมประกบเหล็กตามข้อ 1. ไม่จำเป็นต้องเชื่อมตลอดแนว) หากตำแหน่งเหล็กที่ต้องเชื่อมชนกันมีระยะห่าง (อาจเกิดจากการตัดเหล็กไม่ตรงหรือไม่ได้ฉาก)ไม่สามารถเชื่อมได้ ควรตัดเหล็กเส้นที่มีขนาดพอดีกับระยะห่างนั้นแปะอุดเข้าไปแล้วเชื่อมยึดโดยรอบ (ดูรูป 5.)
6. เหล็กจันทันหากจำเป็นต้องต่อ ควรหลีกเลี่ยงการต่อช่วงกลาง และตำแหน่งที่เชื่อมต่อต้องเชื่อมให้รอบหน้าตัดเหล็ก อาจใช้เหล็กเพลทเชื่อมประกบเสริมก็จะทำให้แข็งแรงยิ่งขึ้น
7. บริเวณหมายเลข 7 นี้จะเห็นรอยเชื่อมเหล็กอเส เป็นการเชื่อมต่อเหล็กท่อนที่อยู่ด้านหน้า (อเสจะเป็นเหล็กตัวซีประกบกัน)
การเชื่อมโครงหลังคาบ้าน รอยเชื่อมที่ดีนั้นควรเป็นแบบเกล็ดปลา เมื่อเคาะขี้ลวดเชื่อมออกแล้วควรเห็นรอยเชื่อมเต็มตลอดแนวไม่มีรูหรือช่องว่างในแนวเชื่อม สำหรับรอยเชื่อมที่เห็นในรูปทั้งหมดนี้ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ใช้ได้ แม้ว่าไม่ได้เป็นลักษณะแบบเกล็ดปลาแต่ก็มีการเชื่อมเต็มตลอดหน้าตัดเหล็กและมีแนวเชื่อมที่เต็มไม่มีรูโพรงหรือช่องว่างในแนวเชื่อม
ขอบคุณมากครับ
ขอบคุณนะครับได้ความรู้มาก
ตัวเชื่อมเหล็กให้ติดกันเรียกว่าอะไรครับ
ขอบคุณมากครับ
@คุณFlower
หมายถึงลวดเชื่อมรึเปล่าครับ
เขาเรียกว่าลวดเชื่อมหรือครับ
ขอบคุณครับ
วันนี้ปีนขึ้นเพดานฝ้าหาสายไฟเพื่อจะต่อเครื่องทำน้ำอุ่นเห็นโครงเหล็กหลังคาไม่ใช่เหล็กทั่วไปที่เคยเห็นมันเป็นสแตนเลสบางๆตัวชีเหมือนตัวยึดแผ่นฝ้าเขาเรียกว่าเหล็กอะไรครับมันทนหรือปล่าวลองบีบดูก็เคลื่อนไหวตามแรงบีบ
@คุณFlower
น่าจะเป็นโครงหลังคาสำเร็จรูป ปัจจุบันโครงการบ้านจัดสรรหลายๆที่ก็เริ่มหันมาใช้โครงหลังคาแบบนี้กัน เนื่องจากทำงานได้รวดเร็ว เขาจะทำเป็นโครงถักโดยการประกอบจากด้านล้างแล้วยกขึ้นไปติดตั้ง โครงหลังคาตัวนี้จะประกอบกันโดยใช้สกรูยึดไม่ได้ใช้วิธีเชื่อม บ้านหลังหนึ่งใช้เวลาติดตั้งประมาณ 2วัน (ทำให้ประหยัดค้่าแรงในการติดตั้ง)ผมก็ได้ใช้โครงฯแบบนี้อยู่ในเฟสหนึ่ง เดี๋ยวว่างๆ จะเอามาลงให้ดูครับ (เป็นบริษัทฯที่รับทำโดยเฉพาะ ไม่ได้ใช้คนงานทำเอง)
โครงสำเร็จรูปราคาสูงไหมครับถ้าเทียบกับโครงเหล็กทั่วไปแล้วเรื่องการรับน้ำหนักล่ะครับ
ขอบคุณครับ
@คุณFlower
ราคาไม่ได้สูงหรือแตกต่างกันมากมาย (ผมยังไม่ได้เทียบกันเป็นตารางเมตรดู) เรื่องการรับน้ำหนักก็ยังไม่เห็นมีปัญหาอะไร มุงหลังคาไปแล้ว บ้านเสร็จไปแล้วคนเข้าอยู่ร่วมปีแล้วก็ยังไม่พบปัญหาอะไรเกี่ยวกับโครงหลังคา
ขอถามครับเหล็กเส้นยาว 6 เมตรใช้ทำอเสถ้าความยาวของโรงครัวยาว 8 เมตรตำแหน่งเชื่อมเหล็กจะอยู่ตำแหน่งไหนครับ
หลีกเลี่ยงการต่อที่ช่วงกลางระหว่างเสา เพราะเวลารับน้ำหนักตรงกลางจะแอ่นมากกว่าจุดอื่น หากไปเชื่อมต่อตรงกลางโอกาสที่จะแอ่น,หัก ก็มีมากยิ่งถ้าเชื่อมไม่ดีมีโอกาสหักมาก ตำแหน่งที่ควรต่อก็จะประมาณ 1/3 หรือ 1/4 ของspanเสา (spanเสา หมายถึงระยะห่างระหว่างเสาถึงเสา) เช่น จากเสาถึงเสา มีช่วงยาว 4 เมตร จากเสาออกมา 1 เมตรคือจุดที่ควรต่ออะเส (1/4 ของช่วงเสา)
*คุณต้องแบ่งช่วงเสาอย่างน้อย2ช่วง หากวางอะเสช่วงเดียว 8 เมตร ระยะห่างเสายาวเกินไปมีโอกาสที่อะเสจะแอ่นตรงกลาง
ถ้าระหว่างช่วงเสาห่าง 4 เมตรเราตัดเหล็กท่อนล่ะ 4 เมตรมาเชื่อมต่อตรงเสาสมควจไหมครับ